หน้าแรกLIB Learnวิกฤต จีน-ไต้หวัน ที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม

วิกฤต จีน-ไต้หวัน ที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม

#ต้องอ่าน ‘วิกฤต จีน-ไต้หวัน ที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม’ 

โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร x LiberatorSecurities

• หลายคนเห็น ‘แนนซี่ เพโลซี’ เดินทางไปและออกจากเกาะไต้หวันได้อย่างปลอดภัย ก็เริ่มเบาใจว่าภูมิภาคเรายัง ‘สุขสงบ’ แม้ต่อมาจะเห็นจีนซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน ก็ยังสบายใจว่าเป็นเพียงการซ้อมรบในเวลาที่จำกัด จีนเพียงแสดงอารมณ์โมโหร้าย แต่ไม่นานก็เลิกแล้ว และทุกอย่างก็จะกลับมาสุขสงบดังเช่นปกติ

• แต่ผมเสียใจที่จะต้องบอกว่า ‘ทริปของแนนซี่ เพโลซี’ ซึ่งตามมาด้วยการซ้อมรบของจีนรอบเกาะไต้หวันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จะยิ่งผลักให้สถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน…

’ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม’  

• จีนซ้อมรบใหญ่ เป็นสงครามจิตวิทยาถึงทุกคน เพื่อ ‘ส่งสัญญาณ’ ที่ชัดเจนว่าการเยือนของเพโลซีเป็นการข้ามเส้นแดงของจีน ไม่ให้ผู้นำคนอื่นของสหรัฐฯ หรือยุโรปเอาเยี่ยงอย่างตามเพโลซี

• แต่ที่สำคัญกว่านั้น จีนต้องการส่งสารตรงถึงไต้หวันสามข้อ เพื่อเป็นการสร้าง “New Normal” หรือบรรทัดฐานใหม่ของการยกระดับความตึงเครียด

หนึ่ง คือ ให้เห็นว่าไม่มีเส้นเขตแดนไต้หวันที่จีนข้ามไม่ได้ เพราะจีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน เส้นแบ่งต่างๆ ไม่ว่าทางทะเลหรืออากาศที่ไต้หวันบอกจีนล้ำเส้นเข้ามา จีนแสดงออกจากการซ้อมรบว่าไม่มีเส้นเหล่านี้อีกต่อไปแล้วในมุมมองของฝั่งจีน และจีนท้าทายด้วยว่าไต้หวันไม่มีทางกล้ายิงเครื่องบินจีนหรือตอบโต้เรือรบจีน เพราะจีนประกาศแล้วว่าแค่มาซ้อมรบ หากไต้หวันตอบโต้ ก็จะยิ่งสร้างข้ออ้างให้จีนยกระดับการกดดันทางการทหารยิ่งขึ้นไปอีก

สอง คือ แสดงให้เห็นว่าจีนสามารถล้อมปิดเกาะไต้หวันหรือปิดเส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวัน โดยไม่ต้องยกพลบุกขึ้นเกาะ เพียงแค่จีนล้อมเกาะเต็มรูปแบบ (ไม่ใช่แค่ซ้อมอย่างตอนนี้) ไต้หวันก็ปั่นป่วนแล้ว

หากปิดระยะสั้น ก็เช่นการประกาศพื้นที่รอบเกาะไต้หวันเป็นเขตซ้อมรบในช่วงไม่กี่วันดังเช่นในครั้งนี้ ตอนนี้ในไต้หวัน พูดกันว่า ถ้าจีนซ้อมรบ 3 วันได้ ต่อไปก็ขยายเป็นหลายวันได้ และต่อไปถ้าไม่พอใจอะไรอีก ก็อาจมาซ้อมรบใหม่อีก ซึ่งทุกครั้งย่อมหมายถึงการหยุดชะงักของการขนส่งและการเดินทางเข้าและออกเกาะไต้หวัน

สื่อมวลชนไต้หวันต่างรายงานว่า ไต้หวันนั้นเป็นเกาะ ในกรณีที่ถูกปิดล้อม ก๊าซธรรมชาติของไต้หวันอยู่ได้เพียง 11 วันเท่านั้นเอง

สาม คือ จีนต้องการแสดงแสนยานุภาพการทหารในวันนี้ที่แตกต่างจากในอดีต เมื่อวิกฤตช่องแคบไต้หวันในปี ค.ศ. 1996 นั้น งบประมาณด้านการทหารของจีนคิดเป็นเพียงสองเท่าของไต้หวัน แต่ในปัจจุบัน งบประมาณด้านการทหารของจีนสูงกว่าไต้หวันมากกว่า 20 เท่าตัว ในปี ค.ศ. 1996 จีนซ้อมรบในพื้นที่ด้านฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก แต่วันนี้จีนมาซ้อมรบประชิดเกาะไต้หวันอย่างไม่เคยทำมาก่อน

• ครั้งนี้จีนยังไม่เพียงแต่ใช้มาตรการกดดันทางการทหาร แต่ยังใช้มาตรการทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย โดยการห้ามนำเข้าสินค้าไต้หวันหลายพันรายการ โดยมีการวิเคราะห์ว่าสินค้าที่อยู่ในรายการล้วนเจาะเป้าไปที่กลุ่มฐานเสียงของ’ พรรค DPP’ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของไต้หวันในปัจจุบันที่มีจุดยืนที่ดุดันและไม่เป็นมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่

• ในทางผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งจีน–ไต้หวันจะยิ่งดันต้นทุนการขนส่งและต้นทุนประกันภัยให้สูงขึ้น เพราะการเดินเรือและการขนส่งทางอากาศผ่านบริเวณนั้นอาจสะดุดลงเป็นช่วงๆ ตามแต่การซ้อมรบของจีน

• และนี่ก็จะกลายเป็น “New Normal” ต่อไปนี้ทุกครั้งที่มีประเด็นที่จีนไม่พอใจเกี่ยวกับไต้หวันหรือท่าทีของสหรัฐฯ ต่อไต้หวัน จีนก็จะออกมาประกาศซ้อมรบเช่นในครั้งนี้ ซึ่งก็จะไม่มีใครหยุดจีนได้ ทั้งไต้หวันและสหรัฐฯ ต่างก็พยายามไม่เข้าปะทะ เพราะเกรงจะลามเป็นสงคราม ซึ่งไม่มีใครต้องการสงครามในตอนนี้ในขณะที่ยูเครนยังร้อนเป็นไฟ

• ในระยะยาว ความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคของเราจะสูงขึ้นมาก และจะยิ่งตอกย้ำกระแสการแยกห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ วันนี้สหรัฐฯ เริ่มถามว่าหากเกิดสงครามในช่องแคบไต้หวันจริง สหรัฐฯ จะเจ็บตัวน้อยที่สุดได้อย่างไรถ้าต้องคว่ำบาตรจีน จีนเองก็ถามคำถามเดียวกันว่าจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าต่อไปถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ผลคือทั้งสองฝ่ายต่างจะเดินหน้าถอดรื้อความเชื่อมโยงระหว่างกัน

• นายกฯ ลีเซียนลุงของสิงคโปร์ เพิ่งกล่าวในงานวันชาติสิงคโปร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขอให้ชาวสิงคโปร์เตรียมใจรับความจริงว่าภูมิภาคของเราจะไม่สุขสงบเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะดูเหมือนทั้งสามฝ่ายคือจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน ยิ่งนานวันต่างจะขัดแย้งกันแรงขึ้น ซึ่งจะยกระดับความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือการเข้าใจหรือคำนวณพฤติกรรมของแต่ละฝ่ายผิดพลาดจนลุกลามไปสู่สงคราม

• ยกตัวอย่าง ถ้าจีนส่งเครื่องบินรบบินข้ามน่านฟ้าไต้หวันบ่อยขึ้น หรือซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันถี่ขึ้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับกองทัพไต้หวันไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งก็เพียงพอที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกได้เลยทีเดียว จนในสื่อตะวันตกเริ่มมีนักวิเคราะห์มองว่าทั้งสามฝ่ายกำลังเดินอย่างหลับๆ ตื่นๆ รู้ตัวอีกทีอาจเป็นสงครามใหญ่เรียบร้อย (Sleepwalking to War)

• นี่ยังไม่นับว่าตอนนี้มีกับระเบิดลูกใหญ่ซ่อนอยู่ข้างหน้าอีกหลายลูก ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายภายในของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับไต้หวันที่ตอนนี้กำลังจะเข้ารับการพิจารณาของวุฒิสภา โดยมีเนื้อหาจะยกระดับไต้หวันเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ นอกนาโต้ (Major Non-NATO Ally) รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในปี 2024 ที่ว่าที่ผู้สมัครหลายคนมีจุดยืนที่ร้อนแรงยิ่งขึ้นอีกเกี่ยวกับการปกป้องไต้หวัน บางคนไปถึงจุดที่ว่าสหรัฐฯ ควรรับรองและมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นทางการกับไต้หวัน ซึ่งทั้งหมดนี้ อย่างเบาจีนก็คงใช้เป็นเหตุซ้อมรบโชว์ปิดเกาะได้อีกหลายครั้ง แต่อย่างหนัก เช่น หากสหรัฐฯ ประกาศความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นทางการกับไต้หวัน อาจนำไปสู่การสิ้นสุดความสัมพันธ์ที่เป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ และจีน หรือไปจนถึงสงคราม

“การซ้อมรบของจีนรอบนี้จึงเป็นการให้พวกเราชิมลางความปกติใหม่ (New Normal) ที่ภูมิภาคเอเชียอาจร้อนไม่แพ้ยุโรป และไต้หวันอาจเสี่ยงซ้ำรอยยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ”

อาร์ม ตั้งนิรันดร x LiberatorSecurities

11.08.2022

———————————————————-
ติดตาม ‘Liberator’ ได้ทุกช่องทางของคุณ
Instagram : liberator_th
Twitter : th_Liberator
Blockdit : Liberator
Facebook : Liberator Securities
.
𝗣𝗢𝗪𝗘𝗥 𝗜𝗡 𝗬𝗢𝗨𝗥 𝗛𝗔𝗡𝗗
𝗧𝗵𝗲 𝗻𝗲𝘄 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗽𝗼𝘄𝗲𝗿 𝘁𝗵𝗮𝘁 𝘁𝗿𝘂𝗹𝘆 𝗯𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴𝘀 𝘁𝗼 𝗮𝗹𝗹 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗲𝗿𝘀.


PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า