หน้าแรกLIB Learn5 กับดักจิตวิทยา เมื่อหุ้นเป็นขาขึ้น

5 กับดักจิตวิทยา เมื่อหุ้นเป็นขาขึ้น

Written by: #StockVitamins x #Liberator

จิตวิทยาการลงทุน เป็นการทำความเข้าใจเรื่องราวภายในจิตใจ ภายในสมองของเรา ที่ส่งผลต่อพฤติกรรม การกระทำในการซื้อ ถือ หรือขายหุ้น

หลายครั้งเราเข้าใจในเหตุผลของการกระทำ หลายครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่าทำไมถึงแบบนั้น และก็อีกหลายครั้งที่ทำไปด้วยอคติหรืออารมณ์ เรารีบขายหุ้นทั้งๆ ที่มันน่าจะไปต่อ เรารีบซื้อหุ้นทั้งๆ ที่ราคาร่วงหนัก ทำไมเราถึงทำแบบนี้กันนะ วันนี้วิตามินหุ้นจะมาเล่าเรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุน ตอนนี้ขอเล่าในกรณีเมื่อหุ้นเป็นขาขึ้นกันครับ

1. ปล่อยให้ราคานำความคิด
แปลกแต่จริงที่ว่า หุ้นบางตัวตอนที่ราคาอยู่นิ่งๆ มันจะไม่น่าสนใจ ไม่มีใครซื้อ เราเองก็ไม่กล้าซื้อ บางครั้งอาจจะมีคนพูดถึงแต่ข้อเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อราคาขึ้น และยิ่งขึ้นแรงเท่าไหร่ เรื่องราวดีๆ ก็จะออกมาเพียบ ใครต่อใครก็จะพากันลืมข้อเสีย คุยแต่ข้อดีกันหมด ทั้งๆ ที่เมื่อสัปดาห์ก่อนยังไม่เคยชมเลยสักครั้ง

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะ เมื่อราคาขึ้น เหมือนเป็นสัญญาณที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าดี ถ้าซื้อแล้วราคายิ่งขึ้นก็จะกำไร ก็ยิ่งมองดี มองว่าตัวเองถูก เพราะนำเอาผลลัพธ์ที่หุ้นขึ้นกลับมาเป็นเหตุบอกว่าหุ้นดี ซึ่งจริงๆ แล้ว เราไม่ควรเอาการที่ราคาขึ้นหรือลงมาเป็นเหตุที่บอกว่าหุ้นดีหรือไม่ดี เราควรมองที่ตัวธุรกิจ การเติบโต และมูลค่าของกิจการมากกว่า ส่วนราคานั้นจะเป็นผลลัพธ์ที่ตามมาหากเราวิเคราะห์ได้ถูกต้อง

2. FOMO … จอดรถก่อนขอขึ้นด้วย
เวลาหุ้นขึ้นเยอะ คนพูดถึงเยอะ วันนี้เขียว พรุ่งนี้เขียวต่อ เราจะเกิดอาการอยากได้อยากรวยเหมือนคนอื่นบ้าง กลัวว่าถ้าเราไม่รีบซื้อวันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ขึ้นต่อ เราจะเสียโอกาสทำกำไร เรียกอาการแบบนี้ว่า กลัวพลาดโอกาสทองไป หรือ FOMO (Fear of Missing Out) นั่นเอง

อาการแบบนี้ทำให้เราประมาท รีบซื้อตามคนอื่น ตามกระแสสังคม โดยมองแต่แง่ดีเป็นหลัก ขาดการคิดหรือศึกษาอย่างรอบคอบด้วยตัวเอง ปัญหาที่ตามมาคือ ถ้าหุ้นขึ้นต่อเราก็ดีใจ แต่ตอบไม่ได้ว่าจะขายเมื่อไหร่ ถ้าหุ้นลงเราก็เครียด ไม่รู้ว่าควรทำยังไงดี เพราะไม่ได้คิดด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น

3. หุ้นขึ้นไม่กล้าซื้อเพิ่ม
ซื้อหุ้นไม้แรกว่ายากแล้ว ซื้อหุ้นเพิ่มไม้ต่อไปที่ราคาสูงขึ้นยิ่งยากกว่า เพราะปกติเคยเป็นแต่นักสู้ถัวขาลง ยิ่งลงยิ่งซื้อ เพื่อถัวต้นทุน ขาดทุนจะได้ลดลง แต่ในทางตรงกันข้าม เรากลัวว่ายิ่งซื้อหุ้นเพิ่มตอนขาขึ้น ต้นทุนเราก็จะยิ่งสูงขึ้น นำมาซึ่งความคิด 2 อย่าง คือ
• อย่างแรก ถ้าซื้อแล้วหุ้นลง เราก็จะขาดทุนสิ ทุนต่ำอยู่ดีๆ ไม่อยากเสี่ยง

• อย่างที่สอง กำไร 30% อยู่ดีๆ หุ้นขึ้นมาเยอะแล้วซื้อเพิ่ม กำไรเหลือแค่ 15% ดูไม่สวย ไม่เอาดีกว่า โดยลืมคิดไปว่า ถ้าเป็นตัวเงินมันเยอะมากเลยนะ ถ้าหุ้นเกิดขึ้นไปต่อ แล้วที่สำคัญ เราไม่ได้เอาเปอร์เซ็นต์สวยๆ ไปโชว์ใคร แต่เราต้องการกำไรเป็นเงินที่มากกว่าเพื่อตัวเองไม่ใช่หรือ

4. Confirmation Bias … เข้าข้างตัวเองจนหมดตัว

หุ้นขึ้นเยอะ เราจะเริ่มหลงรักหุ้นตัวเอง พยายามหาเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาสนับสนุนความคิดตัวเองว่า หุ้นเราดี ต้องไปต่อ มีข่าวดีแบบนั้นแบบนี้ เป็นอาการที่เรียกว่า Confirmation Bias หรือ อคติของการเข้าข้างตัวเอง ซึ่งหลายครั้งก็อาจทำให้เรามองข้ามข้อมูล ข้อเท็จจริงบางอย่างที่จำเป็น ใครไม่เห็นด้วยกับเรา ก็ทำเป็นเมินไม่สนใจฟัง เราเลยมองแต่ข้อดี ไม่ขายหุ้นทั้งๆ ที่มันไม่ดีแล้ว

5. ซื้อได้ ขายไม่เป็น

ปัญหาคลาสสิก ตอนซื้ออะง่าย ยิ่งหุ้นขึ้น ยิ่งเห็นกำไร ยิ่งไม่อยากขาย ลุ้นว่าขออีกนิดจะเด้งแล้ว ค่อยขายละกัน หรือยังไม่ถึงราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์เลย รอให้ถึงก่อนแล้วค่อยขาย แต่เราต้องไม่ลืมว่า คนที่ซื้อหุ้นแบบเดียวกับเรามีอีกเป็นพันเป็นหมื่นคน เป้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความพอใจไม่เท่ากัน และหุ้นเป็นสิ่งที่ dynamic กลยุทธ์เปลี่ยนแปลงได้ คู่แข่งก็สู้ได้ สถานการณ์เปลี่ยน กำไรก็เปลี่ยนแปลงได้

เพราะฉะนั้น เราเองก็ควรต้องวางแผนการขายตั้งแต่ตอนที่จะซื้อด้วยซ้ำว่า เมื่อไหร่ที่ควรจะขายหุ้น ขายตามมูลค่า ขายตามการเติบโตที่ลดลง ขายเมื่อสตอรี่หมดไป หรือเพราะอะไร ต้องคิดไว้ก่อนล่วงหน้า จะได้ขายเป็นเมื่อถึงเวลา
โดยสรุปแล้ว จิตวิทยาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมองที่อยู่ข้างใน หลายครั้งดูแปลกๆ ว่าทำไมคิดแบบนั้นแบบนี้ ถ้าเราค่อยๆ ฝึกคิดด้วยเหตุผล เพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เราก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากความลับที่ซ่อนอยู่ภายในกับการลงทุนของเราได้

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า