หน้าแรกLIB Learnลดภาษีมีเงินออมให้เงินงอกเงย ด้วยกองทุนประหยัดภาษีตามเทรนด์

ลดภาษีมีเงินออมให้เงินงอกเงย ด้วยกองทุนประหยัดภาษีตามเทรนด์

ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละประเทศปรับตัวสูงขึ้นเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ถือว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นน่าจะมีแนวโน้มคงที่ และในปีหน้า (2567) ช่วงไตรมาส 3 ก็มีโอกาสที่จะได้เห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง เมื่อดอกเบี้ยลดลงแสดงว่าต้นทุนทางการเงินของแต่ละบริษัท ฯ ก็จะมีแนวโน้มที่ลดลงด้วยเช่นกัน

เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว เราอาจจะมีลุ้นที่จะได้เห็นตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นผมเชื่อเลยว่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ ใครหลาย ๆ คน พอรู้ข่าวว่า ตลาดหุ้นกำลังจะดีขึ้น พนักงานประจำที่ทำงานแล้วกำลังจะได้โบนัสในช่วงสิ้นเดือนนี้ หรือนักลงทุนที่ยังมีเงินเหลือ (…ถ้ายังมีนะ….) คงกำลังจะรีบหากองทุน SSF หรือ RMF มาลดหย่อนในช่วงสุดท้ายของปีอย่างแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้นในปีนี้มีกองทุนลดภาษีน้องใหม่มาด้วย นั่นก็คือกองทุน Thai ESG หรือ Thailand ESG Fund (กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน) ที่จะเน้นลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ตามหลัก ESG ซึ่งประกอบด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) นั่นเองครับ

คราวนี้เรามารู้จักเงื่อนไขของกองทุน SSF/RMF และ TESG กันแบบคร่าว ๆ กันสักเล็กน้อย

กองทุน SSF ย่อมาจาก Super Saving Fund ส่วนกองทุน RMF ก็ย่อมาจาก Retirement Mutaul Fund ซึ่งทั้งสองกองทุน เป็นกองทุนที่ซื้อแล้วสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แต่จะแตกต่างกันก็คือ กองทุน RMF จะเน้นการถือยาวเพื่อการเกษียณโดยที่จะไม่มีเงินปันผลออกมาให้ระหว่างทางเลยครับ โดยทั้งสองกองทุนจะมีเงื่อนไขดังนี้

กองทุน SSF/RMF เริ่มต้นซื้อเท่าไหร่ก็ได้ไม่กำหนดขั้นต่ำ จะซื้อ 1 บาทก็เริ่มต้นลงทุนได้แล้ว ในแต่ละปีจะซื้อที่บลจ. ไหน กองทุนไหนก็ได้ ซื้อกี่กองทุนก็ได้ แค่ห้ามซื้อเกินกว่าที่กำหนดเท่านั้นเองยอดซื้อกองทุน SSF/RMF รวมกันทุกกองทุน จากทุกบลจ. ในปีที่ซื้อ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี 

เช่น รายได้ทั้งปี 500,000 บาท จะซื้อ SSF ได้ 150,000 บาท และ RMF ได้อีก 150,000 บาท รวมเป็น 300,000 บาท ที่สามารถนำไปลดภาษีได้ แต่กองทุน SSF จะซื้อสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วน RMF จะซื้อได้สูงสัด 500,000 บาท 

ถ้าหากรายได้ทั้งปี = 1 ล้าน เราจะซื้อ SSF ได้เพียง 200,000 บาท (เนื่องจาก 30% ของ 1 ล้านจะเกิน 200,000 บาท) เราจะซื้อ RMF ได้ 300,000 บาท (เนื่องจาก 30% ของ 1 ล้านจะไม่เกิน 500,000 บาท) และ เมื่อรวมกองทุน SSF + RMF + กองทุนเพื่อการเกษียณแบบอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

กองทุน RMF เมื่อซื้อแล้ว ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่เนื่องจากไม่กำหนดขั้นต่ำ ปีไหนเงินน้อย ซื้อ 1 บาท เพื่อรักษาสิทธิ์ก็ได้นะคร้าบบ ส่วนกองทุน SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ปีไหนอยากซื้อค่อยซื้อ หรือปีไหนภาษีเยอะค่อยซื้อก็ยังได้ กองทุน SSF  ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ ซื้อ ส่วน RMF ต้องลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปีเต็ม และไม่ขายจนกว่าจะมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์

ส่วนกองทุน Thai ESG ก็เหมือนกับกองทุนรุ่นพี่ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และลงทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท โดยถ้าหากเรามีรายได้ประมาณ 350,000 บาทต่อปี เท่ากับว่าเราจะได้วงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจาก Thai ESG ไปเลย 100,000 บาท เต็ม ๆ ครับ และเมื่อนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ก็จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 600,000 บาท

ส่วนระยะเวลาการลงทุน Thai ESG ต้องถือลงทุนเป็นเวลา 8 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ โดยซื้อปีไหน ลดหย่อนปีนั้น และไม่บังคับว่าต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีคล้าย ๆ กับกองทุน SSF และ LTF ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ครับ

และ ในปีนี้ถือว่าเป็นปีพิเศษมาก ๆ เนื่องจากว่า เราอาจจะไม่โชคดีแบบนี้ทุกปีที่ ซื้อกองทุน SSF/RMF/LTF สิ้นปีแล้วมีโอกาสได้ราคาที่ถูกกว่าทยอยซื้อทั้งปี เพราะว่าในอดีตตลอด 15 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 4 ปีเท่านั้นที่ซื้อกองทุน SSF/RMF/LTF ปลายปีแล้วได้ราคาที่ดี (ราคาถูก) กว่าการทยอยซื้อทั้งปี

แต่การซื้อปลายปีแล้วได้ราคาที่ถูก ก็ไม่แน่ว่าเดือนมกราคม ก็อาจจะเจอราคากองทุนที่ถูกกว่าก็เป็นไปได้ครับ ดังนั้นถ้าจะให้ดีในปีหน้า เราก็ควรที่จะวางแผนทยอยซื้อทุก ๆ เดือนก็จะได้ราคาเฉลี่ยที่ดีกว่าในระยะยาว ดังนั้นทางที่ดีก็ควรที่จะวางแผนการซื้อกองทุนตั้งแต่ต้นปีครับ

คราวนี้หลายคนคงจะถามว่า ถ้าหากอนาคตอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลง เราจะลงทุนกับกองทุนประเภทไหนดี ถ้าหากตามหลักของเงินเฟ้อ และการขึ้น-ลงของดอกเบี้ย แล้วละก็จังหวะนี้ ก็ควรที่จะเน้นลงทุนใน ตราสารหนี้เนื่องจากเป็นจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับสูง และมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ลงทุนตอนนี้ก็คล้าย ๆ กับการล็อกผลตอบแทนที่ดีไว้ ยิ่งในปีหน้าที่ดอกเบี้ยมีโอกาสลดลง ก็ยิ่งทำให้ตราสารหนี้มีโอกาสที่จะได้ราคาที่ดีด้วย

ยิ่งปลายปีที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน และบางคนก็อาจจะไม่แน่ใจว่าจะเลือกกองทุน SSF/RMF แบบไหนดี ผมแนะนำว่าให้ซื้อกองทุน SSF/RMF/TESG ตราสารหนี้ไปก่อนได้เลย ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากราคาตราสารหนี้ไม่ได้ผันผวนมาก และ ช่วงดอกเบี้ยที่สูงก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี และอย่าลืมนะครับว่ากองทุน SSF/RMF/TESG นั้นสามารถปรับเปลี่ยนไปมาได้ 

เช่นปีนี้ลงทุนกับกองทุน SSF ตราสารหนี้ ก็สามารถสับเปลี่ยนกองทุนไป SSF หุ้นได้ จะข้าม บลจ ก็สามารถทำได้ตลอดเวลาครับ  ดังนั้นถ้าปีหน้าตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้นเราก็ค่อยปรับเปลี่ยนเป็นกองทุน SSF หุ้นก็ยังไม่สายเกินไปครับ

ส่วนใครเป็นสายบู๊ อยากลงทุนแล้วมีโอกาสเติบโตแล้วละก็ แนะนำว่าให้เลือกกองทุน SSF/RMF หุ้น ที่มีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาวอย่างกองทุนกลุ่มเทคโนโลยี และ กองทุนหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่กำลังจะกลับมา เนื่องจากพอเศรษฐกิจฟื้นตัว หรือเติบโตได้ กองทุนหุ้นทั้งสองกลุ่มนี้จะฟื้นตัวเป็นอันดับแรก ๆ และจากการที่ราคากองทุนเทคโนโลยีได้ปรับตัวลดลงมามากแล้วก็ยิ่งทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้นครับ

แต่ใครที่คิดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงอยู่จนกว่าการลดลงของอัตราดอกเบี้ยจะชัดเจนมากกว่านี้ ก็อาจจะเลือกกองทุนกลุ่มสุขภาพหรือว่า Healthcare ที่มีแนวโน้มการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และ สังคมผู้สูงอายุเองก็ทำให้ธุรกิจ Healthcare เติบโตได้อย่างดีในระยะยาวก็สามารถหากองทุน Healthcare SSF/RMF มาลงทุนได้เช่นกันครับ

ส่วนใครที่อยากลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง ก็อาจจะเน้นลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่มประเทศ หรือว่ากองทุนหุ้นทั่วโลกก็สามารถทำได้ ซึ่งผลตอบแทนอาจจะไม่ได้สูงมากนัก แต่อย่างน้อย ๆ ก็ค่อย ๆ เติบโตไปได้เรื่อย ๆ เนื่องจาก GDP รวมของโลกเราก็เติบโตขึ้นทุก ๆ ปีนั่นเองครับ

พอมาถึงตรงนี้คงมีคำถามว่า แล้วเราจะซื้อกองทุน SSF/RMF/TESG เท่าไหร่ดี จึงจะเหมาะสม เนื่องจากการลงทุนในกองทุนประหยัดภาษีให้คุ้มค่านั้น ต้องเริ่มจากการวางแผนการเงินเบื้องต้นก่อน 

โดยถ้าหากเรามีรายได้ประมาณ 500,000-750,000 บาทต่อปี หรือ อัตราการเสียภาษีอยู่ที่ฐาน 15% (เสียภาษีประมาณ 30,000-60,000 บาท) ก็น่าที่จะต้องเริ่มพิจารณาในการซื้อกองทุนประหยัดภาษีได้แล้วครับ

ถ้าหากเราทำตามหลักการวางแผนการเงินแล้วละก็เวลาที่คนเริ่มเก็บเงินเพื่อลงทุนนั้นจะอยู่ประมาณ 10-15% ของรายได้ หรือประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน (ถ้าหากเรามีรายได้ประมาณ 500,000-750,000 บาทต่อปี) ก็น่าจะทำให้เราได้มีเงินเก็บหลักหมื่น และลดหย่อนภาษีได้ค่อนข้างจะเยอะพอสมควร เพราะเราจะประหยัดภาษีไปได้อีกหลายพัน หรืออาจจะลดภาษีลงได้ถึงหลักหมื่นเลยดีเดียว และยิ่งถ้าหากกองทุนที่เราลงทุนนั้นเติบโตได้ก็จะทำให้เงินของเรางอกเงยได้ดีมากขึ้นไปอีกครับ

พอถึงตรงนี้หน้ากระดาษก็หมดพอดีครับ ไม่งั้นจะเป็นบทความที่ยาวเกินไป โดยในครั้งหน้า เราจะมีคุยกันในเรื่องของการจัดทัพ และ เลือกกองทุน SSF/RMF/TESG ตามช่วงวัยกันนะครับ อย่าลืมติดตามกันนะครับ วันนี้ต้องลาไปก่อน สวัสดีครับ


PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า