หน้าแรกLIB Learnกับดักการลงทุน 'หุ้นปันผล'

กับดักการลงทุน ‘หุ้นปันผล’

Written by: #StockVitamins x #Liberator

หุ้นตัวนี้ปันผลสูง 7% เสียดายซื้อไม่ทัน วันนี้ขึ้นเครื่องหมาย XD
หุ้นตัวนี้ปีที่แล้ว Yield 15% ทำไมปีนี้เหลือแค่ 5%
หุ้นตัวนี้จ่ายปันผล 100% Payout Ratio แต่ราคาลงเอาๆ จนอยากเอาปันผลไปคืน

ช่วงประกาศงบประจำปีแบบตอนนี้ สิ่งที่เรามักจะเห็นตามมาจากบริษัทด้วยก็คือ การประกาศจ่ายเงินปันผล เช่น คณะกรรมการมีมติจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.40 บาทต่อหุ้นของงวดดำเนินงานวันที่ 01 ม.ค. ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 และก็จะมีคำศัพท์ที่นักลงทุนอาจจะงงว่าอะไร คือ XD, Yield, Payout Ratio แล้วปันผลเท่าไหร่ถึงเรียกว่าดี วันนี้วิตามินหุ้นจะมาตอบคำถามเหล่านี้ให้หายสงสัยกันครับ

เงินปันผล หรือ Dividend คือ ส่วนแบ่งที่บริษัทหักจากผลกำไรสุทธิที่ทำได้แล้วแบ่งให้เราผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่มี เช่น เราซื้อหุ้นมา 6 บาท 100,000 หุ้น เราก็จะได้ปันผล 0.40 x 100,000 = 40,000 บาท

คำศัพท์หรือเรื่องที่เราต้องรู้เกี่ยวกับหุ้นปันผล คือ

1. นโยบายเงินปันผล หรือ Dividend Policy เช่น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และทุนสำรองตามกฎหมาย

แปลง่ายๆ ก็คือ สมมติทั้งปีทำกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS: Earning Per Share) ได้ 2 บาท อย่างน้อยๆ จะแบ่งมา 50% คือ 1 บาท ให้ผู้ถือหุ้น

• คำถาม คือ จ่ายมากกว่าได้มั้ย คำตอบคือ ได้ จ่ายหมดเลย 2 บาท ได้มั้ย ก็ตอบว่า ได้อีก คือ จ่ายตั้งแต่ 50-100% ได้หมด ตามที่คณะกรรมการหรือบอร์ดบริษัทลงมติกัน ส่วนมากมักจะจ่ายมากกว่านโยบายทั้งนั้น

• คำถามต่อมา แล้วมีโอกาสไม่จ่ายเลยมั้ย ก็ต้องตอบว่ามี ในกรณีที่บริษัทมีตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ ก็แปลว่า ไม่มีกำไร ติดตัวแดง แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายละ

2. อัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไร หรือ Payout Ratio มีสูตรคำนวณ คือ (เงินปันผล/กำไรต่อหุ้น) x 100 เช่น ทั้งปี บริษัททำกำไรสุทธิได้ 0.50 บาทต่อหุ้น จ่ายปันผล 0.40 บาท คำนวณได้จากเอา (0.4/0.5) x 100 = 80% แปลว่า ทุก 100 บาท ที่บริษัททำกำไรได้ จะแบ่งมาจ่ายปันผล 80 บาท

• ถามว่าต้องจ่ายเท่านี้ทุกปีมั้ย คำตอบ คือ ไม่จำเป็น แล้วแต่มติบอร์ดบริหารเช่นกัน แต่โดยส่วนมาก ในกรณีปกติ ถ้าจ่ายด้วย payout ratio เท่าไหร่ ก็มักจะจ่ายเท่านั้นตลอด
• มีกรณีไหนมั้ย ที่จ่าย Payout Ratio ต่ำมากๆ มีนะ เช่น ตอนปี COVID ที่กำไรไม่ดีเหมือนเดิม หรืออยากจะขอเก็บเงินไว้รักษาสภาพคล่อง ก็จะเห็น Payout ต่ำหน่อบ
• เพราะฉะนั้น Payout Ratio เป็นการคำนวณเพื่อหาความน่าจะเป็นว่า บริษัทจะจ่ายปันผลออกมาเท่าไหร่ในอนาคตด้วย

3. อัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทน หรือ Yield มีสูตรคำนวณ คือ (เงินปันผล/ราคาหุ้น) x 100 เช่น ปันผล 0.40 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นบนกระดาน คือ 8 บาท แปลว่า เราได้ Yield (0.4/8) x 100 = 5% แปลว่า ทุก 100 บาท ที่เราซื้อหุ้นตัวนี้ เราจะได้ผลตอบแทนเป็นเงิน 5 บาท

• หุ้นตัวนี้จ่ายปันผลกี่เปอร์เซ็นต์ ที่คนชอบพูดกัน ก็คือ การหาว่า Yield กี่เปอร์เซ็นต์นั่นเอง
• คำถาม คือ ทำไมเราคำนวณได้ 5% เพื่อนเราได้ 5.5% อีกคนได้ 4.5% คำตอบ คือ เพราะซื้อกันคนละวัน ราคาหุ้นวิ่งขึ้นลงทุกวัน เวลาคำนวณออกมาก็เลยได้ Yield ไม่เท่ากัน
• คำถามต่อมา คือ Yield กี่เปอร์เซ็นต์เรียกว่าดี ให้พิจารณาแบบนี้ว่า ค่าเฉลี่ยของบริษัทในตลาดหุ้นจ่ายที่เกือบ 3% ถ้าเราบวกเงินเฟ้อในช่วงปกติซัก 2% แปลว่า ถ้าได้ปันผลซัก 5% ก็ถือว่าใช้ได้ หรือจะลองเอาไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนด้านอื่น เช่น พันธบัตรรัฐบาลได้ดอกเบี้ยซัก 4% งั้นหาหุ้นที่ให้ปันผล 5% ก็โอเค

4. XD ย่อมาจาก Excluding Dividend เอาไว้บอกเราว่า ถ้าเจอเครื่องหมายนี้เมื่อไหร่ ถ้าเราซื้อหุ้นวันนั้นก็จะไม่ได้ปันผล เหมือนเป็นเครื่องหมายกากบาทคัดคนไม่มีสิทธิ์ออกไป

• คำถาม คือ ซื้อก่อน XD 1 วัน ได้ปันผลมั้ย คำตอบ คือ ได้ ซื้อกี่วัน กี่เดือนก่อน XD ได้ปันผลหมด
• คำถามต่อมา แล้วถ้าขายวัน XD ได้ปันผลมั้ย คำตอบคือ ได้ ถ้าซื้อมาก่อนหน้านั้น ไม่ใช่เพิ่งมาซื้อตอนเช้าวัน XD

5. เงินปันผลโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
โดยทั่วไปเราจะโดนหัก 10% เช่น ได้เงินปันผล 0.40 บาท x 100,000 = 40,000 บาท แต่โดนหักไป 4,000 บาท เงินโอนเข้ามาแค่ 36,000 บาท แต่เราก็สามารถไปยื่นขอเครดิตภาษีคืนให้สรรพากรพิจารณาได้เช่นกัน เพราะบริษัทที่เราถือหุ้นนั้นเสียภาษีนิติบุคคลไปแล้ว ส่วนเราเสียภาษีบุคคลธรรมดา อาจจะดูว่าซ้ำซ้อนกัน ก็ลองไปยื่นดูได้

พอเราเข้าใจแบบนี้แล้ว เราก็จะคิดว่า งั้นไปหาหุ้นที่ Payout สูงๆ Yield สูงๆ ซื้อก่อน XD แล้วก็นั่งรอรับเงินปันผลโอนเข้าบัญชีธนาคาร ถามว่าถูกมั้ย คำตอบ คือ ถูกครึ่งนึง เพราะบางทีเราอาจติดกับดับเรื่องตัวเลขบางอย่างที่จะเล่าให้ฟังต่อไป

กับดักหุ้นปันผลที่เราต้องระมัดระวัง คือ

1. Yield สูง จากกำไรพิเศษ
บางครั้งเราตาโตเห็นหุ้นจ่ายปันผล 10%, 15% แต่หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการคำนวณจากกำไรพิเศษที่อาจจะมาเพียงครั้งเดียว เช่น ขายที่ดินได้ ขายโรงงานได้ ซึ่งปกติไม่มี บริษัทเลยจ่ายปันผลเยอะกว่าปกติ ถ้าเราหลงเข้าไปซื้อ แล้วปีต่อมากลับมาจ่ายเท่าเดิมที่แค่ 2% ก็อาจจะไม่คุ้มได้ เพราะฉะนั้นต้องลองดูดีๆ ว่า ปกติจ่ายเท่าไหร่ ทำไมปีนี้จะจ่ายเยอะ มันสมเหตุสมผลหรือเปล่า

2. Yield สูง เพราะธุรกิจมีปัญหา ราคาหุ้นลงเยอะ
ถ้าเราดูจากสูตร คือ เงินปันผล/ราคาหุ้น การที่ Yield เพิ่มขึ้นได้ อาจเป็นเพราะ

• จ่ายปันผลสูงขึ้น กิจการทำกำไรได้ดีขึ้น ถ้าแบบนี้คือดี
• ราคาหุ้นลงเยอะ อาจเป็นเพราะเริ่มเห็นสัญญาณว่า บริษัทไม่โต นักลงทุนบางคนเห็นเลยตัดสินใจเทขายออกมาก่อน ราคาเป็นตัวหาร พอลงเยอะ ผลลัพธ์เป็น Yield เลยดูเหมือนสูง ถ้าแบบนี้ก็อาจจะไม่ดี

3. Payout Ratio 90-100% เพราะธุรกิจอิ่มตัว
เราอาจจะอยากได้หุ้นที่จ่าย payout เยอะๆ กำไรเท่าไหร่ จ่ายออกมาเกือบหมด เพราะเราคิดว่าเราจะได้เงินปันผลเยอะๆ แต่ในความเป็นจริง ลองคิดดูว่า การที่บริษัททำแบบนั้น อาจเป็นเพราะ ธุรกิจอิ่มตัวแล้ว ไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ หรือหมดมุก คิดไม่ออกว่าจะหา S-curve ใหม่อย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้ในอนาคตกำไรอาจจะลดลงได้ และแน่นอนว่า เงินปันผลถึงแม้จะจ่าย 90-100% เมื่อคำนวณออกมาแล้วก็จะได้เงินลดลงนั่นเอง

4. ปันผลสูง กำไรดี แต่ขาดเงินสด
เป็นไปได้ว่า บางธุรกิจมีกำไรสุทธิเป็นบวกเยอะ แต่เก็บเงินได้ช้า ให้เครดิตนาน อาจเป็นด้วยรูปแบบของธุรกิจนั้นๆ หรือตามนโยบายการเติบโต แต่บริษัทเองก็อยากจะจ่ายปันผล ซึ่งวิธีการที่ทำได้คือ ต้องไปกู้เงินมาจ่ายปันผลแทนไปก่อน เพราะถ้าไม่จ่าย เดี่ยว Yield หด นักลงทุนตกใจขายหุ้นทิ้ง แต่ปัญหาที่ตามมาในระยะยาว คือ การก่อหนี้ เป็นภาระให้บริษัท แทนที่จะกู้เพื่อเอาไปลงทุนสร้างสินทรัพย์ให้ออกดอกผลจะดีกว่า

ครั้งต่อไป เวลาเราซื้อหุ้นเพื่อหวังเงินปันผล เราก็จะสามารถคำนวณได้เองแล้วว่าที่ราคานี้ ได้ Yield คุ้มแค่ไหน บริษัทเอาเงินจากที่ไหนมาจ่าย บริษัทเติบโตหรืออิ่มตัว เราก็จะได้ซื้อหุ้นปันผลแบบยั่งยืนและสบายใจ

08.03.2023


PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า